7 วิธีดูแลกายและใจ เริ่มชีวิตใหม่คนวัยเกษียณ
การเกษียณอายุเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต ไม่เพียงแค่สิ้นสุดการทํางานเท่านั้น แต่เป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตที่เหลือทั้งหมดเป็นก้าวสำคัญจากกิจวัตรการทำงานที่มี ถูกกำหนดไปสู่ช่วงเวลาอิสรภาพที่สามารถออกแบบได้ด้วยตนเองเป็นโอกาสในการค้นหาความหมายและวิธีสร้างสรรค์ตนเองใหม่ด้วยการอยู่กับตัวเองรู้ว่าตนเองคือใคร และอยากเป็นใคร เปิดรับรูปแบบชีวิตที่สอดคล้องกับแรงบันดาลใจความฝันและความตั้งใจ ด้วยประสบการณ์ ศักยภาพและพลังใหม่ นำมาซึ่งทั้งโอกาสและความท้าทายนับเป็นก้าวแรกที่สู่การเป็นผู้เกษียนอายุที่มีความสุขและแข็งแรง กระตือรือร้นและมีชีวิตชีวา
Fred Rogers กล่าวว่า
“เมื่ออยู่ที่จุดสิ้นสุดของบางสิ่ง แสดงว่าคุณอยู่ที่จุดเริ่มต้นของอีกสิ่งหนึ่งเสมอ”
การเกษียณอายุเป็นจุดเริ่มต้น…
กำหนดคุณค่าและเป้าหมายใหม่
การเกษียณอายุอาจทําให้เกิดความรู้สึกสูญเสียอัตลักษณ์และจุดประสงค์จากคุณค่าและตำแหน่งงาน
Louis H. Primavera ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่ Touro University ผู้ศึกษาเรื่องการเกษียณอายุกล่าว
“เมื่อเกษียณคุณจะเป็น “คนที่เคยเป็น” นิยามตัวตนขึ้นใหม่ในแบบที่ดีที่สุด
เป็นวิธีที่ตระหนักว่าชีวิตมีพันธกิจตามช่วงอายุ จุดประกายความฝันและความหลงใหลอีกครั้ง
เปิดโอกาสให้ตนเองเติบโต เชื่อมั่นในศักยภาพภายในที่ไม่จำกัด
ปลดปล่อยความเป็นตัวตนอีกครั้ง อาจเป็นนักเขียน ศิลปิน หรือนักดนตรี เป็นต้น
เปิดรับประสบการณ์ใหม่
โลกนี้กว้างใหญ่และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา มีสิ่งใหม่ที่น่าค้นหาสถานที่บางแห่งที่ยังไม่เคยไป บางสิ่งที่ยังไม่เคยทำ ทำลายกำแพงที่เป็นข้อจำกัด ค้นพบสิ่งใหม่ๆ เปิดใจเรียนรู้ ยอมรับและปรับตัวความไม่คุ้นชิน กล้าหาญที่จะผจญภัยเติมเต็มสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิต ทำในสิ่งที่อยากทำมาทั้งชีวิต ค้นหากิจกรรมที่เข้าใกล้ความรู้สึกถึงคุณค่าและเป้าหมายใหม่เป็นสําคัญนํามาซึ่งความท้าทายและสร้างแรงบันดาลใจ เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ภาษาใหม่ๆ เทคโนโลยีใหม่ๆ หรือเดินทางท่องโลกกว้าง เป็นต้น
ใส่ใจสุขภาพ
สุขภาพแข็งแรงเป็นต้นทุนสำคัญในวัยที่ร่างกายเสื่อมถอย ตรวจสุขภาพประจำปีรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ คุณค่าและสารอาหารที่ครบถ้วน การพักผ่อนที่เพียงพอ และการออกกำลังกาย Harvard Medical School แนะนำกิจกรรมทางกายสี่ประเภทในการออกกําลังกาย ได้แก่ความอดทน (แอโรบิก) การฝึกความแข็งแรง (กายบริหาร)ความยืดหยุ่น(โยคะ) และการออกกําลังกายแบบทรงตัว (เดินในน้ำ)การออกกําลังกายทั้งสี่ประเภทนี้ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ใหม่ลดความต้านทานต่ออินซูลินและลดการอักเสบนอกเหนือจากประโยชน์ด้านสมรรถภาพทางกายแล้ว ยังผลต่อสุขภาพจิตที่ดีอีกด้วย
ดูแลตัวเองให้ดูดี
ชราอย่างสง่างาม (Aging Gracefully) แม้อายุจะมากขึ้นแต่ก็ยังดูดี แข็งแรง กระปรี้กระเปร่า บุคลิกดี งดงามสมวัยใส่ใจการแต่งกาย รูปร่างให้สมส่วน ให้คุณค่ากับภาพลักษณ์ภายนอกที่ส่งเสริมความภาคภูมืใจและความเชื่อมั่นในตนเอง ทำให้มีพลังทำตามเป้าหมายและความตั้งใจได้ดังคำกล่าวเปรียบเทียบของกษัตริย์ดาวิดว่า “ต้นอินทผาลัม และต้นสนสีดาร์ มันแก่แล้วยังเกิดผลอยู่ มีน้ำเลี้ยงเต็ม และเขียวสดอยู่” (David, King of Israel: 1000-962 BC) ความสูงวัยไม่สามารถยับยั้งความฝันได้
มองโลกในแง่ดี
สร้างทัศนคติและอารมณ์เชิงบวก เรียนรู้การจัดการความเครียด ก้าวข้ามความกลัววิตกกังวลและความสงสัย เลิกจดจ่อกับอดีตที่แก้ไขไม่ได้ ด้วยการระบายความรู้สึกผ่านการเขียนผ่อนคลายด้วยการหายใจปรับคลื่นสมองหรือหาที่ปรึกษาส่วนตัว ก้าวต่อไปด้วยปัจจุบันให้ดีที่สุดเห็นโอกาสและความเป็นไปได้ท่ามกลางปัญหา ฝึกใจให้สงบในทุกสถานการณ์ รับข้อมูลเชิงบวก ใช้เวลากับคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ คนที่มีความสุขมักไม่เจ็บป่วยและมีชีวิตยืนยาว ดังคำกล่าว “ใจร่าเริงเป็นยาอย่างดี” (Solomon, King of Israel 9330-931 BC)
รักษาความสัมพันธ์
ชีวิตคือความสัมพันธ์ เริ่มต้นจากความเข้าใจและใส่ใจตนเอง สัตย์ซื่อกับความรู้สึก เมตตาตัวเองโดยการให้อภัยกล้าปฏิเสธสิ่งที่ไม่เพื่อจะเป็นตัวของตัวเอง เมื่อรักและยอมรับตัวเอง จะได้นำมาซึ่งการเข้าถึงความรู้สึกและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เรียกร้องและที่ไร้เงื่อนไข ไม่ก้าวล้ำโดยใช้ประสบการณ์ที่มีมากกว่า หรือควบคุมโดยใช้ความใกล้ชิดแต่ให้เกียรติ เคารพในความแตกต่างและรักษาขอบเขต ความสัมพันธ์ที่ดีทำให้มีความสุขเพื่มขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์ในคู่สมรส 14 เปอร์เซ็นต์กับบรรดาพี่น้อง และ 34 เปอร์เซ็นต์กับเพื่อนบ้าน (ข้อมูลจากงานวิจัย British Medical Journal, 2008)
ใช้ชีวิตเรียบง่าย
ความสุขเรียบง่ายกว่าที่คิด ไม่ได้วัดจากการมีมากหรือน้อย แต่อยู่ที่ความพึงพอใจและการให้คุณค่ากับสิ่งที่มีแท้จริงแล้วสิ่งที่จำเป็นในชีวิตมีไม่กี่อย่าง นอกนั้นคือความอยากทั้งสิ้นการเกษียณอายุทำให้มีเวลาเฝ้าดูสิ่งรอบข้างอย่างมีสติและสัมผัสกับช่วงเวลาปัจจุบันอย่างเต็มที่ชีวิตและลมหายใจเป็นของขวัญที่มีค่าที่สุด ฝึกอยู่กับความเงียบ เดินบนหญ้าด้วยเท้าเปล่าชื่นชมดอกไม้ สัมผัสเสียงลม ธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่และมหัศจรรย์ช่วยยกจิตใจและเติมพลังให้ก้าวเดิน
ขอบคุณสิ่งที่มี เรียนรู้อยู่กับแค่สิ่งจำเป็นในชีวิต
ผู้เขียน: วันดี วจนะถาวรชัย
ผู้อำนวยการมูลนิธิเต็มเปี่ยม
(PhD. CP., M.Th., M.Div., B.Th.)